ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง
สรุปประเด็นสำคัญ
– ศูนย์วิจัยกรุงศรีมองว่า ธุรกิจที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 4 – 7% ต่อปี ในปี 2565 – 2567 จากกำลังซื้อที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธุรกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และต้นทุนที่ปรับตัวขึ้น
– สำหรับธุรกิจบ้านจัดสรร คาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะเติบโตต่อเนื่อง จากความได้เปรียบด้านต้นทุน ส่วนรายกลาง – เล็ก อาจถูกกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง จึงมีแนวโน้มจะหาพันธมิตรเพื่อขยายฐานเงินทุนให้สามารถแข่งขันได้
– สำหรับอาคารชุดพักอาศัย คาดว่าอัตราการขายจะยังอยู่ในระดับต่ำ จากการเดินทางข้ามพรมแดนที่ยังต้องระมัดระวัง มาตรการของประเทศจีน ที่มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่เป็นระยะ กระทบต่อยอดการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการทำกำไรของผู้ประกอบการอยู่บ้าง
ศูนย์วิจัยกรุงศรี – 15 ก.ค. 65
ปี 2565-2567 ธุรกิจที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อานิสงส์จากกำลังซื้อที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้ต้นทุนการพัฒนาโครงการมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามราคาพลังงานและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงราคาที่ดินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่คาดว่าจะประคับประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ แต่รายกลาง-เล็กจะถูกกดดันจากการแข่งขันรุนแรง ทั้งด้านยอดขาย ต้นทุนวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดินซึ่งหายากขึ้นและมีราคาแพง ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มหาพันธมิตรเพื่อร่วมทุน ทั้งกับบริษัทในประเทศหรือกลุ่มทุนต่างชาติ เพื่อขยายฐานเงินทุนทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้
ธุรกิจบ้านจัดสรร : รายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่จะเติบโตต่อเนื่อง จากความสามารถในการปรับตัวและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า เนื่องจากสามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดตราสารหนี้ ส่วนผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กจะเผชิญภาวะยากลำบากมากกว่าและมีส่วนแบ่งตลาดลดลง โดยเฉพาะรายที่ไม่มีพันธมิตร/เครือข่ายจะแข่งขันได้ยาก บางรายอาจมีข้อจำกัดด้านเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงอาจมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ธุรกิจอาคารชุดพักอาศัย : อาคารชุดพักอาศัยเพื่อขายย่านใจกลางเมืองและแนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านการบริหารโครงการ การตลาด และแหล่งเงินทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า การเดินทางข้ามพรมแดนที่ยังต้องระมัดระวัง การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะมาตรการ “Zero COVID” ของประเทศจีน ทำให้มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่เป็นระยะ กระทบต่อยอดการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ จึงคาดว่าอัตราการขายจะยังอยู่ในระดับต่ำและอาจมีต้นทุนส่งเสริมการตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย การแข่งขันจึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เป็นข้อจำกัดในการทำกำไรของผู้ประกอบการอยู่บ้าง ด้านผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจะเน้นพัฒนาโครงการที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้นในย่านชานเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่รอบนอกและมีศักยภาพเชิงทำเลต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์) ในทำเลเดียวกัน ผลประกอบการจึงมีแนวโน้มชะลอตัวและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกรุงศรี บทความเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 65