“หุ้นกู้” คืออะไร?
“หุ้นกู้” (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยบริษัทเอกชน โดยการออกหุ้นกู้มีจุดประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามแผนของบริษัท ซึ่งเมื่อออกจำหน่ายหุ้นกู้แล้ว ผู้ซื้อหุ้นกู้จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” และบริษัทจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อหุ้นกู้ในรูปแบบของ “ดอกเบี้ย” เป็นรายงวดตามที่กำหนดไว้ตลอดอายุหุ้นกู้ ซึ่งโดยทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนหรือ 6 เดือน ตามแต่ที่กำหนดไว้ และบริษัทจะชำระคืนเงินต้นแก่ผู้ซื้อเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้
อ่านบทความ ทำความรู้จักกับองค์ประกอบสำคัญของหุ้นกู้
“หุ้นกู้” แตกต่างกับ “หุ้นสามัญ” อย่างไร?
ผู้ลงทุนใน “หุ้นกู้” (Corporate Bond) จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ จะได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบของ “ดอกเบี้ย” (Interest) ตามอัตราที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ไม่ว่าผลประกอบการของบริษัทจะมีผลกำไรหรือขาดทุน และจะมีการกำหนดวันครบกำหนดไถ่ถอนที่แน่นอน นอกจากนี้ กรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย หรือไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องการชำระเงินได้ก่อนผู้ถือตราสารทุน หรือหุ้นสามัญ
ผู้ลงทุนใน “หุ้นสามัญ” (Common Stock) จะมีสถานะเป็น “เจ้าของร่วม” ตามสัดส่วนที่ถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ ผลตอบแทนที่จะได้รับจะมีความไม่แน่นอน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ประกอบไปด้วย “เงินปันผล” (Dividend) ซึ่งไม่ได้กำหนดอัตราผลตอบแทนไว้แน่นอน
จะได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปลงทุน หรือหากบริษัทมีผลประกอบการขาดทุน ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินปันผลได้ ส่วนผลตอบแทนอีกรูปแบบหนึ่งได้แก่ “ส่วนต่างราคาซื้อ และราคาขาย” (Capital gain) ซึ่งจะเกิดจากการที่ผู้ถือหุ้นสามัญสามารถขายหุ้นได้มากกว่าราคาซื้อ แต่ผู้ถือหุ้นสามัญก็มีโอกาสที่จะขาดทุนหากราคาที่ขายได้ต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา และการลงทุนในหุ้นสามัญจะไม่มีการกำหนดอายุที่แน่นอน นอกจากนี้ในกรณีที่บริษัทที่เข้าไปลงทุนล้มละลาย หรือไม่สามารถดำเนินกิจการได้
ผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิเรียกร้องเป็นลำดับสุดท้าย