
เผยแพร่โดย Wealthy Thai: https://www.wealthythai.com/th/updates/stock/news-highlight/35332
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.0% และนับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี รวมแล้วดอกเบี้ยนโนบายได้ปรับลงมา 0.50% จากจุดสูงสุด
สะท้อนว่าดอกเบี้ยของไทยเข้าสู่ช่วงขาลงเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนที่ต้อง“จ่ายดอกเบี้ย”เนื่องจากภาระหนี้ก็จะเบาลง แต่สำหรับผู้ที่ “รับดอกเบี้ย” จากการฝากเงิน หรือ การลงทุนในตราสารหนี้ก็อาจจะเซงๆกันบ้าง เนื่องจากเราจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำลง ในภาวะที่เงินเฟ้อของไทยก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ แล้ว เราจะลงทุนอย่างไรให้เงินลงทุนเติบโต ในภาวะดอกเบี้ยขาลงและไม่ถูกเงินเฟ้อกัดกิน?
สำหรับทางเลือกการลงทุนในปัจจุบันมีค่อนข้างหลากหลาย แต่ในบทความนี้ ไทรจะพาเพื่อน ๆ มาดูทางเลือกการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัย สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้ในช่วงดอกเบี้ยขาลง และสามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว
ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่า “เงินเฟ้อ” ที่เป็น “ศัตรู” ของการลงทุนของเรา โดยเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ ?
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของไทยอยู่ที่ 1.6% และ เงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 1.35% ต่อปี ดังนั้นเราควรใช้เงินเฟ้อในระยะยาวที่ 1.3% เป็นเป้าหมายสำหรับการลงทุน
ทีนี้เรามาดูกันต่อว่า ทางเลือกการลงทุนแบบไหนบ้าง ที่ค่อนข้างปลอดภัยและสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเราได้ ?
- เงินฝาก: ปลอดภัยแต่ผลตอบแทนอาจไม่ทันเงินเฟ้อ
ทางเลือกการลงทุนที่ทุกคนคุ้นเคย คือการฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำ แม้ว่าวิธีนี้จะช่วยรักษาเงินต้นได้เป็นอย่างดี แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ผลตอบแทนจากการฝากเงินอาจต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินออมมีโอกาสลดลงในระยะยาว
- ข้อดีของเงินฝากธนาคาร
- ความเสี่ยงต่ำและเงินต้นได้รับการคุ้มครอง
- สภาพคล่องสูง สามารถถอนออกมาใช้ได้ง่าย
- เหมาะสำหรับเงินสำรองฉุกเฉิน
- ข้อเสียของเงินฝากธนาคาร
- ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้ผลตอบแทนต่ำลงได้
- ผลตอบแทนอาจไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว
ผลตอบแทนย้อนหลังของเงินฝากออมทรัพย์ & ฝากประจำ
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าในช่วง 10 ปีย้อนหลัง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ในช่วง 0.25-0.55% ต่อปี ในขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ในช่วง 1.4% – 1.7% ต่อปี ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ประมาณ 1.3% ต่อปี ทำให้ผลตอบแทนหลังหักเงินเฟ้อจากการฝากออมทรัพย์นั้นติดลบ ส่วนของฝากประจำยังเป็นบวก
สรุปได้ว่า การฝากออมทรัพย์ระยะยาวอาจจะไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ในขณะที่การฝากประจำยังพอสูสีกับเงินเฟ้อ
- ตราสารหนี้: ทางเลือกที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และ ชนะเงินเฟ้อ
ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลง ทั้งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้ภาคเอกชน เนื่องจากตราสารหนี้มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝาก และในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ราคาของตราสารหนี้ในตลาดรองก็มีโอกาสปรับตัวขึ้น เนื่องจากความต้องการตราสารหนี้จะสูงขึ้น จึงทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการขายเพื่อทำกำไรส่วนต่างตราสารหนี้ในตลาดรองได้
- ข้อดีของตราสารหนี้
- ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก
- มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากราคาตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาลง
- เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้จากดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอ
- ข้อเสียของตราสารหนี้
- มีความเสี่ยงด้านเครดิต หากผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
- อาจมีความผันผวนของราคาตามอัตราดอกเบี้ยและภาวะตลาด
- ต้องถือครองในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด
ผลตอบแทนย้อนหลังของตราสารหนี้
ตามข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในช่วง 1.4% – 1.8% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับอายุพันธบัตร) ขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนระดับ Investment Grade อยู่ในช่วง 2.0% – 3.0% ต่อปี ซึ่งล้วนแต่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และ อัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาว
- กองทุนตราสารหนี้: ทางเลือกที่ยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยงได้ดี
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการได้รับผลตอบแทนจากตราสารหนี้โดยไม่ต้องการบริหารจัดการด้วยตนเอง กองทุนตราสารหนี้เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญคอยบริหารพอร์ตการลงทุน และช่วยกระจายความเสี่ยงในตราสารหนี้หลายประเภทให้กับเรา อีกทั้งยังมีสภาพคล่องที่สูง เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถซื้อและขายคืนหน่วยลงทุนได้ในทุกวันทำการ
ประเภทของกองทุนตราสารหนี้
- กองทุนตลาดเงิน – ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ
- กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น – ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ ตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น ที่มีอายุไม่เกิน 1-3 ปี เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสภาพคล่องสูง และความเสี่ยงต่ำ
- กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว – ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ ตราสารหนี้เอกชนที่มีอายุมากกว่า 1ปี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว และ สามารถรับความผันผวนของ NAV ของกองทุนในระยะสั้นได้
ตัวอย่างผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนตราสารหนี้
- กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น >> กองทุน KKP PLUS ผลตอบแทน 1ปี 3ปี และ 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่4% 1.8% และ 1.4% ต่อปี ตามลำดับ
- กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว >> กองทุน KFAFIX-A ผลตอบแทน 1ปี 3ปี และ 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่5% 2.3% และ 1.6% ต่อปี ตามลำดับ
ในภาวะดอกเบี้ยขาลง ทางเลือกการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่า “เงินฝาก” จะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง แต่ผลตอบแทนมักต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ขณะที่ “ตราสารหนี้” เป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น สามารถสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ และชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว ส่วน กองทุนตราสารหนี้ เป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้มืออาชีพบริหารเงินลงทุนแทน และต้องการสภาพคล่องในการซื้อ-ขาย อีกทั้งยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง ทั้งนี้ การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณาความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของตนเอง หากต้องการความมั่นใจ ควรปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน