ทำความรู้จักกับองค์ประกอบสำคัญๆของหุ้นกู้
จากบทความที่แล้วนักลงทุนได้ทราบกันแล้วว่าหุ้นกู้คืออะไร นักลงทุนหลายๆท่านน่าจะเริ่มต้องการลงทุนในหุ้นกู้กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าองค์ประกอบหุ้นกู้แต่ละส่วนมีอะไรบ้าง และหมายถึงอะไร วันนี้เราเลยหยิบยกองค์ประกอบสำคัญๆ มาอธิบายให้แก่นักลงทุนได้ทราบ และเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ย : ผลตอบแทนที่ผู้ออกหุ้นกู้ตกลงที่จะจ่ายให้กับผู้ลงทุนตามที่กำหนด โดยจะมีทั้งอัตราการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ และแบบลอยตัว ซึ่งหุ้นกู้ส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่
- วิธีการจ่ายดอกเบี้ย : โดยส่วนใหญ่วิธีการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่เราเห็นในตลาดจะมีทั้งการกำหนดรอบการจ่ายดอกเบี้ยเป็นประจำ หรือไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) ซึ่งโดยทั่วไปหุ้นกู้ในตลาดที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปมักจะกำหนดรอบการจ่ายดอกเบี้ยเป็นประจำ เช่น จ่ายดอกเบี้ย 4 ครั้งต่อปี (จ่ายทุกไตรมาส) หรือจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อปี (จ่ายทุก 6 เดือน) เป็นต้น
- อายุของหุ้นกู้ : แบ่งได้เป็นหุ้นกู้ระยะสั้น กับหุ้นกู้ระยะยาว หากเป็นหุ้นกู้ที่มีอายุไม่เกิน 270 วัน จะเรียกว่า “หุ้นกู้ระยะสั้น” แต่หากมีอายุมากกว่า 270 วันจะเรียกว่า “หุ้นกู้” หรือ “หุ้นกู้ระยะยาว” นอกจากนี้ในตลาดยังมีหุ้นกู้ที่ไม่กำหนดอายุ ซึ่งเราเรียกกันว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” (Perpetual bond)
- อันดับความน่าเชื่อถือ : เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ หรือหุ้นกู้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ในประเทศไทยมีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ บจก.ทริสเรทติ้ง และ บจก.ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ยิ่งอันดับเครดิตสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็จะยิ่งต่ำ ได้แก่ 1. กลุ่ม Investment Grade (AAA ถึง BBB-) และ 2. กลุ่ม Non-Investment Grade (ตั้งแต่ BB+ ลงไป) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้ไม่ได้จัดทำอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) ก็อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือข้างต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ออกหุ้นกู้ที่เป็นกลุ่ม Non-rated ทุกบริษัทจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเสมอไป ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลของผู้ออกหุ้นกู้เพิ่มเติม
- สิทธิแฝงของหุ้นกู้ (Embedded Option) : สิทธิพิเศษเพิ่มเติมของหุ้นกู้สำหรับผู้ออกหุ้นกู้ หรือผู้ลงทุนในหุ้นกู้ เช่น ผู้ออกมีสิทธิในการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด (Callable), ผู้ลงทุนมีสิทธิในการขายคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนด (Puttable), ผู้ลงทุนมีสิทธิในการแปลงสภาพของหุ้นกู้ (Convertible) เป็นต้น
- ข้อตกลงประกอบหุ้นกู้ (Covenants) : เป็นการกำหนดหน้าที่บางประการที่ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องปฏิบัติตาม หรืองดเว้นการกระทำบางอย่าง เช่น การกำหนดให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องดำรงอัตราส่วนทางการเงินให้ไม่เกินกว่าที่ตกลงกันไว้ หรือ การห้ามไม่ให้นำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากองค์ประกอบข้างต้นที่เราหยิบยกมาอธิบายแล้วหุ้นกู้ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่นักลงทุนควรทราบ เช่น ลำดับในการได้รับชำระหนี้คืน หรือแม้แต่เรื่องอันดับความน่าเชื่อถือที่ถือที่เราได้หยิบยกมาอธิบายในเบื้องต้น ซึ่งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เราจะมาอธิบายเพิ่มเติมในครั้งหน้า การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน และพบกันใหม่ในครั้งหน้า