กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

การลงทุนที่ “ง่ายที่สุด” แต่ สร้างประโยชน์ “มากที่สุด”

เผยแพร่โดย Wealthy Thai: https://www.wealthythai.com/th/updates/stock/news-highlight/35332

ในช่วงปลายปีแบบนี้ นอกจากการจัดสรรเงินลงทุนสำหรับซื้อกองทุน SSF RMF TESG เพื่อลดหย่อนภาษีแล้ว การวางแผนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เพื่อนๆ วัยทำงานไม่ควรมองข้ามกัน

เนื่องจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือว่าให้ประโยชน์กับเราแบนรอบด้าน เปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ในบทความนี้ไทรจะมาสรุปประโยชน์ต่างๆ ที่เราได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เพื่อนๆเข้าใจง่ายๆกันค่ะ

 

  1. สร้างผลตอบแทนทบต้นทันที ณ วันลงทุน

การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะซื้อหุ้น กองทุน ตราสารหนี้ ทองคำ หรือ คริปโตฯ เราล้วนแต่ต้องพิจารณาถึง “ผลตอบแทนและความเสี่ยง” เมื่อผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงความผันผวนก็สูงตาม

แต่ทางเลือกการลงทุนอย่างนึงที่ไม่เหมือนใคร และมีความพิเศษมากๆ ก็คือ “ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ “ทันที” ณ วันที่เราลงทุน และเป็นการสร้างผลตอบแทนแบบ “ทบต้น”

เนื่องจากทุกๆเดือน เราต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 2-15% ของค่าจ้างตามกฎหมาย และ เราจะได้รับเงินสมทบจากบริษัทตั้งแต่ 2-15% เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัท) ยกตัวอย่างเช่น เราเลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 5% ของค่าจ้างต่อเดือน และบริษัทสมทบเราสูงสุดที่ 5% เช่นกัน หมายความว่า เงินลงทุนของเราจะเติบโตจาก 5% เป็น 10% ทันที ณ สิ้นเดือนที่มีการลงทุน หรือก็คือ “เงินลงทุนก้อนนี้จะเติบโต 1 เท่า ในวันเดียว” ซึ่งไทรคิดว่าในโลกนี้คงไม่มีการลงทุนแบบไหนที่เราจะได้เงินสมทบแบบนี้อีกแล้ว

 

  1. เสริมสร้างวินัยในการออม

ปัญหาของใครหลายๆคน ที่ทำให้การลงทุนสะดุดและไม่ต่อเนื่องก็ คือ “ความไม่มีวินัยในการออม” ซึ่งจะทำให้เราต้องมาปวดหัวในระยะยาวกับชีวิตใกล้วัยเกษียณ โดยเราสามารถบังคับตัวเองให้มีวินัยได้ ด้วยการเลือกออมเงินและลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งตามกฎหมายเราสามารถเลือกลงทุนได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน

สำหรับคนที่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากนัก การเลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในสัดส่วนตั้งแต่ 10-15% ก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เงินลงทุนเรางอกเงยได้ไว เป็นเงินก้อนใหญ่ให้กับเราหลังจากเกษียณ ส่วนคนที่มีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตที่สูงก็ควรลดสัดส่วนการลงทุนให้น้อยลง ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตเป็นอย่างแรก แล้วจึงค่อยพิจารณาสัดส่วนเงินลงทุนเป็นอย่างหลัง และในช่วงที่เรามีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตน้อยลง ก็ค่อยๆเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้สูงขึ้น เพราะต้องอย่าลืมว่า เราต้องใช้ชีวิตในวัยทำงานให้ราบรื่นและมีความสุขด้วย ไม่ใช่คิดถึงชีวิตในวัยเกษียณอย่างเดียว  “Work-Save-Life Balance” สำคัญที่สุดค่ะ

 

  1. โอกาสสร้างผลตอบแทนยั่งยืนในระยะยาว ด้วยการจัดเงินลงทุนให้เหมาะสม

ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีทางเลือกการลงทุนให้กับเราที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ซึ่งแต่ละบลจ.ที่นำเงินของเราไปลงทุน ก็ล้วนแต่มีกองทุนดีๆ ให้เราได้เลือกลงทุน ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือ “การเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุ”

หากเรายังมีอายุไม่เยอะ (ไม่เกิน 35 ปี) การเปิดรับความเสี่ยงเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ดี อย่าง กองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ก็ค่อนข้างมีความเหมาะสม เนื่องจากสินทรัพย์เหล่านี้สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ในระดับ 10% ต่อปี สำหรับการลงทุนระยะยาว 5-10 ปี

และ หากเราเริ่มใกล้วัยเกษียณมากขึ้น (อายุ 45 ปี ขึ้นไป) ข้อจำกัดของเราคือ “ระยะเวลาการลงทุนที่น้อยลง” ดังนั้นการลงทุนในกองทุนหุ้นเป็นหลัก จะไม่ได้มีความเหมาะสมนัก เพราะอาจจะทำให้เราไมเกรนขึ้นได้เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาแรงๆ ดังนั้นในช่วงอายุนี้ เราควรต้องปรับให้เงินลงทุนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของเรา ไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัย แม้จะคาดหวังผลตอบแทนได้น้อยลงเหลือประมาณ 2% ต่อปี แต่มั่นใจได้ว่าเงินลงทุนของเราจะไม่ติดลบ

 

  1. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

ผลประโยชน์ต่อสุดท้าย นอกจากผลตอบแทนต่างๆจากการลงทุนแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย โดย “เงินสะสม” ที่เรานำส่งเข้ากองทุนในแต่ละปี “สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง” สูงสุด ‘ไม่เกิน 15%’ ของรายได้ และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น เช่น RMF SSF หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้ว ต้อง “ไม่เกิน 500,000 บาท”  ซึ่งเงินค่าลดหย่อนนี้จะหักออกจากรายได้ทั้งปี ซึ่งจะทำให้เหลือเงินได้สุทธิน้อยลง ทำให้เราเสียภาษีน้อยลงไปด้วยนั่นเอง

 

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือว่าเป็นสวัสดิการ และ การลงทุนประเภทนึงที่ให้ผลประโยชน์รอบด้าน ทั้ง “ผลตอบแทนจากเงินสมทบ ที่เราได้ผลตอบแทนทันที ณ วันลงทุน”  “ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ” แถมยัง     “สามารถนำไปลดหย่อนภาษี” ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ “สร้างวินัยการออมเงิน อย่างต่อเนื่อง”  ถือว่าเป็นทางเลือกการลงทุนที่ “ทำน้อย” แต่ได้มากจริงๆ